ขานาง - ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ 


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Homalium tomentosum (Vent.) Benth.

ชื่อสามัญ : Moulmein lancewood

ชื่ออื่น : ขานาง (ภาคกลาง เชียงใหม่ จันทบุรี) ขางนาง, คะนาง (ภาคกลาง) ค่านางโคด (ระยอง) ช้างเผือกหลวง (เชียงใหม่) แซพลู้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ปะหง่าง (ราชบุรี) เปลือย (กาญจนบุรี) เปื๋อยคะนาง, เปื๋อยนาง (อุตรดิตถ์) เปื๋อยค่างไห้ (ลำปาง) ลิงง้อ (นครราชสีมา)

วงศ์ : FLACOURTIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นกลมตรง เปลือกบาง เรียบ สีขาวหรือเทาอ่อน โคนต้นพูพอน เป็นไม้ผลัดใบ สูงประมาณ 15-30 เมตร


ใบเป็นใบเดี่ยวออกเวียนสลับกันบริเวณปลายกิ่ง ใบเป็นรูปไข่กลับถึงรูปไข่กลับแกมขอบขนาน กว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ปลายใบกลมมน หรือเป็นติ่งแหลม โคนสอบแคบ โคนสุดมน


ดอกมีขนาดเล็ก มีสีเขียว ออกเป็นช่อยาวตามง่ามใบ ช่อดอกยาวประมาณ 10-35 เซนติเมตร ห้อยลง ไม่มีก้านดอก ติดเป็นกระจุกเวียนบนแกนดอก กระจุกละ 2-3 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น 5-6 แฉก กลีบดอกติดอยู่ในท่อกลีบเลี้ยง


ผลมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ผลแห้งแก่ ไม่แตก ภายในผลมี 1 เมล็ด


ข้อมูลทั่วไป
เขตกระจายพันธุ์

อินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย


นิเวศวิทยา

ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ชอบเขาหินปูนพบทั่วไปทุกภาค ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-350 เมตร ออกดอกเดือนธันวาคม-มกราคม ผลแก่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม


การปลูกเลี้ยง
ดินทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแสงแดดจัด


การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด


การใช้ประโยชน์
เนื้อไม้แข็ง เหนียว แต่ไม่ทนทานมากนัก ใช้ทำเครื่องเรือน เสา ด้ามเครื่องมือทางการเกษตร


ชั้นคุณภาพ 

A ไม้ชั้นคุณภาพดี


สัญลักษณ์ประจำจังหวัด : พันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคล

ต้นขานาง เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเป็นมงคลประจำจังหวัดกาญจนบุรี