ต้นกุ่มบก ในภาษาบาลีจะเรียกว่า “ต้นกักกุธะ” หรือ “ต้นกกุธะ” ส่วนชาวฮินดูจะเรียกว่า “มารินา” ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงนำผ้าบังสุกุลที่ห่อศพนางมณพาสีในป่าช้าผีดิบ (อามกสุสาน) ไปซัก แล้วนำผ้าบังสุกุลดังกล่าวไปตากที่ต้นกุ่มบก โดยพฤกษเทวดาที่สถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ก็ได้น้อมกิ่งของต้นให้ต่ำลงเพื่อให้พระพุทธเจ้าทรงตากจีวร


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva adansonii DC.

ชื่อสามัญ : Sacred barnar, Caper tree, Sacred garlic pear, Temple plant

ชื่ออื่น : กุ่ม, ผักกุ่ม, กะงัน ก่าม ผักก่าม สะเบาถะงัน (ภาคอีสาน), เดิมถะงัน ทะงัน (เขมร)

วงศ์ : Capparaceae (วงศ์กุ่ม)


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์


ต้นกุ่ม หรือ ต้นกุ่มบก กุ่มบกมีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตามเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 6-10 เมตร ลำต้นมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอมเทา เปลือกต้นหนาค่อนข้างเรียบ มีเนื้อไม้หนาขาวปนเปลือง เนื้อละเอียด มักขึ้นตามที่ดอนและในป่าผลัดใบ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบต้นกุ่มได้มากทางภาคใต้และภาคกลาง เช่น จังหวัดกระบี่ ชุมพร พังงา และระนอง