ปฐมบท “เมืองพอสุข” สู่การพึ่งพาตัวเองด้วยวิถีพอเพียง
จากลูกชาวนาในจังหวัดชัยนาทที่ยากลำบากพอสมควร ชัยนาทเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๗ (ลืมตาดูโลก) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนา เทคโนโลยีต่างๆ ยังไปไม่ถึง ชีวิตของชาวนายุคนั้นต้องใช้เหงื่อต่างน้ำกว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ด
เพราความเหนื่อยยากชีวิตจึงถูกพัดพาตามกระแสของเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา นำพามาสู่เส้นทางแรงงานชั้นดี เพื่อความฝัน ความหวังสร้างฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว..ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้เท่าที่ควร
ทำให้ได้หวนคิด ถึงเส้นทางชีวิตของผมนั้น
เมื่อย้อนไปตั้งแต่เป็นเด็กบ้านนอกที่เป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด ครอบครัวญาติพี่น้องล้วนแล้วแต่มีอาชีพทำนา เพราะด้วยพื้นที่ทางภูมิศาตร์ที่เหมาะสมกับการทำนา เพื่อแลกกับ
การศึกษาที่พ่อแม่แลกจากการทุ่มเทแรงกายและแรงใจ เพื่อให้ลูกๆรวมทั้งผม ไม่ต้องเหนื่อยยากลำบาก ไปประกอบอาชีพที่ท่านเชื่อว่า การศึกษาจะทำให้เราดีขึ้น
จนเรียนจบวิชาชีพด้านอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่กระบวนการทำงานตามแบบนิยมทั่วไป
ช่วงชีวิตการทำงานเป็นช่วงแห่งความสนุกและการแสวงหาความหมายของชีวิต แต่กลับเข้าสู่วังวนของการเดินแต่เช้าไปทำงาน กลับบ้าน เที่ยว ดื่ม ที่ซ้ำซากหลายสิบปี
เมื่อเราได้มองกลับไปสู่รากเหง้า
ค้นหาการหลุดพ้น
เมื่อเข้าวัย 40 ชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้งกับการตัดสินใจ หลุดพ้นจากกรอบของการทำงานที่มีรายได้ประจำ เพราะสุขภาพเริ่มตอบแทนเราต่างๆ หลังจากที่ใช้มาอย่างไม่ทนุถนอม เริ่มคิดถึงการเข้าสู่วัยเกษียณ สุขภาพและสิ่งที่เหลือไว้ในคนรุ่นหลัง
เราเริ่มต้นไตร่ตรองและมองสิ่งที่เรามี การที่เรามีสุขภาพที่ดีเราจะสามารถสร้างสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่นได้
สุขภาพคือจุดเริ่มต้น
เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพและโภชการ การปลูกผักในพื้นที่เล็กๆตามวิถีคนเมือง กับการตั้งคำถาม ให้กับตัวเอง
ทำอย่างไร? เราจะไดกินผักที่อร่อยและปลอดภัย (ทั้งๆ ที่ไม่ชอบผัก)
ทำอย่างไร? ผักเติบโตและแข็งแรง
เรียนรู้ ทดลองและลงมือทำ....
พืชผักก็เหมือนกับชีวิตเรา ดินคือแหล่งสร้างการเจริญเติบโตของพืชผัก เมื่อไหร่ที่ดินดีพืชผักต้นไม้ก็เจริญเติบโต
เริ่มเรียนรู้การปรุงดิน ด้วยการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอามูลไส้เดือนมาปรุงดินทำให้ดินมีสารอาหารและแร่ธาตุเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืชผัก
จากการเรียนรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการเกษตรในแบบคนเมืองมันก็ยังไม่ตอบโจทย์ของตัวเองเท่าที่ควร จึงเริ่มขยับเรียนรู้การ “พึ่งพาตัวเองแบบวิถีเกษตร” ในรูปแบบต่างๆ เช่นเกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ จากผู้รู้ ปราชญ์ ต่างๆ
เริ่มต้นสู่ “การแทนคุณแผ่นดิน”
.
วนเกษตร น่าจะตอบโจทย์ของตัวเองมากที่สุด...จึงเริ่มเรียนรู้จากปราชญ์ ผู้ที่ทำวนเกษตร... และลงมือทำทันที
2565 ... เริ่มต้น "เมืองพอสุข"
จากที่เคยกล่าวมา...ผมเป็นลูกชาวนา พ่อแม่เกษียณจากการทำนา พื้นที่ทำนาจึงให้ญาติพี่น้องเช่าทำนาต่อ ตัดสินใจเข้าไปขอพ่อกับแม่ว่าจะใช้พื้นที่ ปลูกป่าเพื่อแทนคุณแผ่นดินและเอาไว้เป็นมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลาน เมื่อท่านทั้งสองอนุมัติโครงการ เริ่มลงมือทำในทันที ด้วยการจัดสรรและปรับพื้นที่เพื่อปลูกป่าและปลูกข้าวเพื่อสุขภาพสำหรับคนในครอบครัว ...
กระแสแห่งการพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำพาเราสู่ยุคใหม่เข้าสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างเมามัน ในฐานะคนบ้านนอกอย่างเรา วิธีการเดียวที่เราจะอยู่รอดคือต้อง พึ่งพาตัวเอง ให้ได้
ตอนนี้เมืองพอสุขอาจเป็นเพียงว่าพื้นที่วนเกษตร เล็กๆ แต่อีกไม่นานนักหรอก เมืองพอสุข จะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิต อากาศบริสุทธิ์ และสามารถให้ลูกหลานหล่อเลี้ยงชีวิต และเป็นที่ภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตของตนเอง จากนี้ไปก็เริ่มเข้าสู่การนับถอยหลังสู่วิถีเกษตร
ว่าที่ฯ เกษตรกร ณ เมืองพอสุข
18 มกราคม 2566