ประโยชน์ของกระโดน
ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนมีรสฝาดอมมัน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก แจ่ว ลาบ ก้อย ส้มตำ ตำมะม่วง ผักประกอบเมี่ยงมดแดง (ชาวอีสานนิยมใช้กระโดนน้ำมากกว่ากระโดนบก เนื่องจากมีรสฝาดน้อยกว่าและมีรสชาติที่อร่อยกว่า) แต่ใบและยอดอ่อนจะมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง การรับประทานมาก ๆ อาจเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ (ใบกระโดนสด 100 กรัม จะมีปริมาณของออกซาเลต 59 มิลลิกรัม ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าผักชะพลู 12 เท่า และน้อยกว่าผักโขม 16 เท่า)
ใบอ่อนเมื่อนำไปต้มแล้วนำไปใช้ห่อเกลือกินแบบเมี่ยงได้ (ขมุ)
เปลือกต้นใช้ต้มทำสีย้อมผ้า โดยจะให้สีน้ำตาลแดง หรือจะต้มรวมกับฝ้ายใช้ย้อมผ้า จะให้สีเหลืองอ่อน
เส้นใยที่ได้จากเปลือกต้นสามารถนำมาใช้ทำเชือก ทำกระดาษสีน้ำตาล เนื่องจากเปลือกลอกได้ง่าย
เปลือกต้นนำมาทุบใช้ทำเป็นเบาะปูรองนั่งหลังช้าง หรือใช้รองของไว้บนหลังช้าง ส่วนคนอีสานนิยมลอกออกมาทุบให้นิ่มใช้ทำเป็นที่นอน และยังสามารถนำมาใช้ทำคบไฟ หรือนำมาจุดไฟใช้ควันไล่แมลง ไร ริ้น หรือยุงก็ได้
เนื้อไม้กระโดนใช้สำหรับงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี เพราะมอดไม่กิน เนื่องจากเนื้อไม้มีรสฝาด และยังใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำครกสาก ทำเรือและพาย เกวียนและเพลา หรือใช้ทำเป็นหมอนรองรางรถไฟ ฯลฯ
เมล็ด ราก และใบมีพิษ ใช้เป็นยาเบื่อปลา
ต้นกระโดนสามารถนำมาใช้ปลูกตามสวนสาธารณะได้ โดยลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมทึบ มีใบใหญ่ มองเห็นทรงพุ่มได้เด่นชัด แต่ไม่ควรนำมาปลูกใกล้ลานจอดรถ เนื่องจากต้นกระโดนเป็นไม้ผลัดใบและมีผลขนาดใหญ่
ข้อมูลทั่วไป
พบการกระจายพันธุ์ทุกภาคของประเทศไทย ตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าแดงและป่าหญ้า
การปลูกเลี้ยง
ดินทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแสงแดดจัด
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง
การใช้ประโยชน์
ใบอ่อน ดอกอ่อน รับประทานได้ ใบเป็นสมุนไพรกลุ่มยาสมานแผล ปลูกประดับสวน ให้ร่มเงา เนื้อไม้ใช้ทำโครงสร้างอาคารหรือเครื่องมือ เส้นใยใช้ทำกระดาษ
การใช้งานและอื่นๆ
นิยมปลูกเป็นไม้ประธานในสวน ยอดอ่อนรสฝาดอมมัน นิยมกินเป็นผักสดกับอาหารรสจัดต่าง ๆให้วิตามินเอ วิตามินบี 2 และวิตามินซีสูง
แหล่งอ้างอิง
เว็บไซต์เกษตรดิจิทัล
เว็บไซต์ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เว็บไซต์เมดไทย (Medthai)